วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2552

"ไทยแซ่บเสวนา"ครั้งที่ 1

เนื่องจากโครงการ Thai Spices Project เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มนักวิชาการจากหลายสถาบันและเอ็นจีโอจากหลายองค์กรของไทย ที่เดินทางไปร่วมประชุมทางวิชาการ SPICES 2008 วันที่ 7-9 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2551 ณ มหาวิทยาลัย ซายนส์ มาเลเซีย รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ในเบื้องต้นการรวมกลุ่มมีวัตถุประสงค์ในการจัดการสัมมนาทางวิชาการในเวทีของไทยเพื่อเผยแพร่งานประชุม SPICES รวมทั้งเชิญชวนนักศึกษา นักวิชาการรุ่นใหม่ เอ็นจีโอ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมในงานประชุม SPICES 2009 ที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2552 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลี สำหรับในการเตรียมการไปร่วมสัมมนาที่ประเทศเกาหลีครั้งนี้ ทางกลุ่มได้ดำริถึงการจัด การประชุมสัมมนาทางวิชาการในเวทีของไทยด้วย

ในการประชุมเวทีไทยในครั้งครั้งที่ 1 ทางกลุ่ม Thai Spices Project ( a.k.a Thai Zaap) จะจัดขึ้นในวันจันทร์ 9 มีนาคม 2552 โดยมีกำหนดการดังนี้

กำหนดการการประชุม Thai Spices Project ครั้งที่ 1

วันที่ 9 มีนาคม 2552 เวลา 9.30 - 15.00 น. ณ อาคารภาควิชาดนตรี

คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา กทม.

กำหนดการช่วงเช้า 9.30-12.00 น.

  • เวลา 9.30 กล่าวเปิดงาน โดย รศ. ดร. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • เวลา 10.00 น. เสนอบทความ วิทยุชุมชน: สถานการณ์ปัจจุบันโดย อาจารย์พินิตตา สุโกศล คณะวิทยาการจัดการฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอการศึกษาเรื่องวิทยุชุมชนพร้อมกับพูดคุยกับชาวบ้านที่ปฏิบัติการวิทยุชุมชนในพื้นที่ต่างๆ เช่นตากและอ่างทอง ถึงสถานการณ์ของวิทยุชุมชนหลังการเคลื่อนไหวการปฏิรูปสื่อกระจายเสียงในรัฐธรรมนูญปี 2540 และสถานการณ์การเมืองเหลือง-แดงหลังรัฐธรรมนูญปี 2550
  • เวลา 10.40 น.เสนอบทความ ดนตรีสมัยนิยมและอุตสาหกรรมดนตรีของไทยโดย คุณดุษฎี วรธรรมดุษฎี นักวิจัยโครงการฯ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร งานวิจัยที่ศึกษาถึงความสัมพันธ์ของนักดนตรีและกระบวนการผลิตดนตรีของค่ายดนตรีของไทย ผ่านกรอบความคิดเรื่อง"อุตสาหกรรมวัฒนธรรม"
  • เวลา 11.20 น. เสนอบทความ แรงงานอพยพพม่า โรฮิงญา ที่จังหวัดระนองโดย อาจารย์สิริพร สมบูรณ์บูรณะ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ งานศึกษาจากมุมมองของนักมานุษยวิทยาท้องถิ่น อันแตกต่างไปจากเรื่องราวที่เรารับรู้เรื่องราวของ แรงงานพม่า-โรฮิงญา จาก " ข่าวต่างประเทศ" ที่ยกระดับไปเป็น" ปัญหา"ของภูมิภาค-ระหว่างประเทศในเวลาต่อมา

เวลา 12.00 - 13.00 น.รับประทานอาหารตามสะดวก

กำหนดการช่วงบ่าย เวลา 13.00-15.00 น.

  • เวลา 13.00 น. เสวนาโต๊ะกลมเกี่ยวกับสถานะของการเรียนการสอนดนตรีสากลทั้งในและนอกระบบการศึกษาของไทยเรื่อง เรียนๆเล่นๆ เป็นนักดนตรี(อาชีพ)ได้บ่?” จะไปเป็นศิลปินใหญ่ฝีมือนั้นไม่เกี่ยวแค่ใบหน้าไม่เสียวก็ได้แล้ว จะเล่นอาชีพไปทำไมเมื่อเล่นคืนหนึ่งยังได้แค่ 200-300 บาทต่อชม. แล้วจริงๆใครมาเรียนดนตรี? แล้วเรียนไปทำไม? เสวนาโดย อาจารย์ขจร ถ้ำทอง หัวหน้าภาควิชาดนตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คุณนภัทร สว่างโชติ ผู้อำนวยการสถาบันดนตรี มิวสิค 499 และคุณอธิป จิตตฤกษ์ นักดนตรีใต้ดิน- นักศึกษาปริญญาโทมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • เวลา 15.00 น. กล่าวปิดงาน โดยอาจารย์ขจร ถ้ำทอง หัวหน้าภาควิชาดนตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

* หน่วยงานและองค์กรร่วมจัด ภาควิชาดนตรี คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัราชภัฎสวนสุนันทาและวัฒนศาลา

** สำหรับผู้ที่จะเข้าร่วม กรุณาแจ้งผู้ประสานงานฯก่อนเข้าร่วมประชุมครับ เพื่อสะดวกในการจัดเตรียมอาหารว่าง

วิริยะ สว่างโชติ

089 4593617

ผู้ประสานงาน Thai Spices Project( a.k.a. Thai Zaap)

spicesthai@gmail.com

วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551

Spices 2008 ความรู้สึกดีๆ ไม่รู้ลืม

กลับจากการประชุมวิชาการ Spices 2008 ที่ปีนังมาก็เดือนหนึ่งแล้ว ยังประทับใจไม่ลืมเลย อยากจะเล่าต่อ ไปร่วมในฐานะผู้เสนอบทความ การประชุมวิชาการระหว่างประเทศด้วย ผู้เสนอบทความวิชาการมาจากหลายประเทศ ไม่รู้จะเจออะไรบ้าง แม้จะผ่านเวทีมาบ้างแล้วก็ตาม ก็ยังตื่นเต้นอยู่ดี.. ตื่นเต้น ..
ไม่เพียงแค่ความตื่นเต้นอย่างเดียว ยังมีอีกหลายความรู้สึกที่ได้จาก Spices 2008 ตั้งแต่วันที่ออกเดินทาง ความรู้สึกแรกที่ค่อย ๆ แทนที่ความตื่นเต้น คือ อุ่นใจ ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เจอผู้ร่วมเดินทางจากประเทศไทย 8 คน นำทีมโดย รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ (อ.ย่าของพวกเรา) ในทีมของพวกเรามีเพื่อนจากประเทศภูฏานซึ่งเป็นนักศึกษาอยู่ที่ ม.กรุงเทพ ด้วยอีก 1 คน ไปไหนก็ไปกัน ทำอะไรก็ทำกันเป็นทีม เช็คอิน ต่อแถวขึ้นเครื่อง แยกย้ายเลือกหาที่นั่งกันตามสบาย (ขอขอบคุณสายการบิน Air Asia อภินันทาการให้พวกเราได้เดินทางลัดฟ้าไปแบบไม่ต้องเสียเงินในกระเป๋ากันเลย)

ก่อนจะพูดถึงเนื้อหาสาระของการประชุมอย่างจริงจัง ขอชมเชยเจ้าภาพจากมหาวิทยาลัยเซนส์ มาเลเซีย ก่อนเลย ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี พวกเราได้เข้าพักในโรงแรมสุดหรูแห่งเมืองปีนัง คนอื่นจะรู้สึกอย่างไรกับที่พักไม่รู้ แต่สำหรับดิฉันเอง ความรู้สึกลุ้นมาก่อนเป็นอันดับแรก เพราะรู้ว่าตัวเองต้องแชร์ห้องพักกับเพื่อนจากอเมริกาและญี่ปุ่น (นานาชาติมากๆ) เมื่อเปิดประตูห้องพักโรงแรมเข้าไป ว้าว!! เจอห้องนอนห้องแรก เตียงใหญ่ หนา นุ่ม ถัดมาเจอห้องนั่งเล่น โซฟานุ่ม มีทีวีอยู่ตรงกลาง สรุปแล้วในห้องชุดของพวกเรา 3 คน 3 ชาตินี้ ยังมีห้องครัว ห้องรีดผ้า ห้องนอนคนละห้อง ห้องน้ำส่วนตัวอย่างดี จากห้องพักชั้น 19 มองเห็นวิวเมืองปีนังภูเขา บ้านเรือน ถนนยาวเหยียด ..เสียดาย มาอยู่แค่ 3 วัน ได้ใช้ห้องไม่ครบทุกห้องเลย..

ยังไม่อยากพูดถึงวิชาการก่อนในตอนนี้ ขอพูดถึงอาหารที่พวกเราได้รับประทานกันก่อนดีกว่า ขอยืนยันเลยว่าอาหารทุกมื้ออร่อยมาก และที่สำคัญมาครั้งนี้ไม่ต้องพกกระเป๋าเงินติดตัวมาเลยก็ยังได้ เพราะอาหารทุกมื้อในปีนัง เจ้าภาพเลี้ยงรับรองเองทั้งหมด จำชื่ออาหารทั้งหมดไม่ได้ รสเด็ดเผ็ดจัดจ้าน ได้รับประทานไก่ เนื้อ ปลา ปู อาหารทะเล หลากหลายเมนู อิ่มจนเดินกันแทบไม่ไหวในแต่ละมื้อ แต่หาหมูรับประทานไม่ได้ในเมืองนี้ (เขาเป็นเมืองมุสลิมค่ะ) นอกจากอาหารอร่อยแล้ว ยังมีการแสดงให้ได้รื่นรมย์กันทุกคืน ศิลปะการแสดงของมาเลเซียร่วมสมัย สมัยนิยม ร้องเพลง เต้นรำ สำราญใจ..

มุสลิม.. ความเป็นเมืองมุสลิมของปีนังก็เป็นจุดเด่นของเมืองนี้อยู่ไม่น้อย ดิฉันคงไม่นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นเท่าไหร่ หากไม่ใช่เพราะเพื่อน ๆ ในทีมจากประเทศไทยของเรา ต้องเดินตระเวนกันอยู่หลายร้านในบริเวณรัศมีของโรงแรมเพื่อหาสิ่ง ๆ หนึ่งซึ่งหายากมากในเมืองนี้ เป็นเวลาเกือบชั่วโมงของการตระเวน ดึก ๆ หลังเสร็จจากอาหารมื้อค่ำที่ทางเจ้าภาพจัดเลี้ยงก็ยังตระเวนกันไหวอยู่ เพื่อสิ่งนั้น เบียร์! เครื่องดื่มเพื่อการสังสรรค์ เบียร์มาเลเซีย 1 กระป๋องคิดเป็นเงินไทย 80 บาทโดยประมาณ ซาบซ่าไม่แพ้เบียร์ไทย ค่ำคืนสุดท้ายที่ปีนัง วงสนทนาย่อยคราเคร้าเบียร์มาเลเซียจึงดำเนินไปได้ถึงตี 3
พูดถึงที่พัก อาหารกันไปแล้ว ขอนำพาไปยังมหาวิทยาลัยที่จัดการประชุมกันดีกว่า เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่ทางเจ้าภาพจัดรับรองไว้ พวกเราต้องเตรียมตัวให้พร้อม ณ โรงแรมที่พักตามเวลาที่กำหนด เพื่อที่เมื่อรถที่ทางเจ้าภาพจัดไว้ให้มารับจะได้เดินทางกันเลย มีรถมารับมาส่งถึงที่ทุกที่ที่ไป สะดวกสบายอย่างนี้ ค่าโดยสารรถแท็กซี่ที่เมืองนี้ถูก หรือ แพง ไม่มีโอกาสสัมผัส เหตุการณ์หนึ่งของวันแรกก็ทำให้ได้รู้ เมื่อเพื่อนจากประเทศภูฎานมาขึ้นรถไม่ทัน นักศึกษาที่ควบคุมรถมารับพวกเรา ไม่ยอมรอ เมื่อถึงเวลาสั่งออกรถเลย (จริงๆแล้วน้องๆนักศึกษาอาสาสมัครที่ถูกจัดไว้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พวกเราน่ารักมาก ทำหน้าที่ได้ดีมาก ทำงานกันเหน็ดเหนื่อยและดูแลกันทุกรายละเอียดตลอดงานที่ปีนัง) พวกเราก็เป็นห่วงว่าเพื่อนภูฏานจะเป็นอย่างไร นักศึกษาที่ดูแลก็ออกปากว่าจะวนรถมารับอีกรอบเมื่อไปส่งพวกเราแล้ว แต่รถเที่ยวนี้ต้องออกเพราะได้เวลา (งานนี้ทำให้พวกเราได้รู้ว่า คนปีนังเขาตรงเวลากันจริง ๆ) เพื่อนภูฏานก็คงกังวลใจ เอาไงละตู รีบจับแท็กซี่มายังมหาวิทยาลัยเซนส์ มาเลเซียเลย รถแท็กซี่ที่ปีนังก็ไม่มีมิเตอร์เสียด้วย ราคาจะถูกจะแพงก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง ปรากฏว่าเพื่อนภูฏานคนนี้ไปถึงมหาวิทยาลัยก่อนรถของพวกเรา ถามไถ่กันได้รู้ว่าเขาต้องจ่ายค่าแท็กซี่จากโรงแรมถึงมหาวิทยาลัย (ซึ่งไม่ไกลเลย สามารถเดินได้) ด้วยระยะเวลา 5 นาทีไปเกือบ 300 บาท น่าเห็นใจจริง ๆ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ส่งผลมาถึงเพื่อนคนไทยของเราหนึ่งคน เพื่อนคนนี้มาขึ้นรถไปร่วมอาหารค่ำไม่ทัน เธอไม่ยอมขึ้นแท็กซี่ จะเดินไปก็กลัวหลงทาง นอนรอพวกเราอยู่ที่โรงแรมจนผ่านคืนนั้นไป .. ขำขำ..

เอาละค่ะ กล่าวถึงบรรยากาศการประชุมบ้าง เรียกว่าการประชุมโดยไม่มีการอธิบายคงนึกภาพไม่ออก เรียกว่าเป็นการเสนอบทความแล้วมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างผู้เสนอและผู้เข้าร่วมน่าจะเห็นภาพชัดขึ้น ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มาจากประเทศในเอเชีย แลกเปลี่ยนกันถึงวัฒนธรรม ความเปลี่ยนแปลง แนวคิด ความจริงของผู้คนในเอเชียของเรา หลังจากได้เสนอบทความไปแล้ว ความตื่นเต้นที่แอบซ่อนอยู่ในตอนแรก เลือนหายไปแบบไม่หลงเหลือ ความอบอุ่นที่ผู้เข้าร่วมจากทุกประเทศ รุ่นเก๋า รุ่นใหญ่ รุ่นใหม่ แลกเปลี่ยนกันด้วยภาษาสากล (ภาษาอังกฤษในสำเนียงของแต่ละชาติ) ความเข้าใจระหว่างกัน เห็นความแตกต่าง แปลงใหม่ เกิดขึ้นที่นี่จริง ๆ
ประสบการณ์ครั้งนี้ หยุดความตื่นเต้นเรื่องความแตกต่าง แต่เพิ่มความตื่นเต้นที่จะได้แลกเปลี่ยน พบเห็น สิ่งใหม่ ๆ กันอีกในโอกาสต่อไป
Spices 2008 ประทับใจจริง ๆ

วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2551

What is SPICES conference?


จากงานสัมมนาทางวิชาการที่จัดประชุมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2549 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยหัวเรื่อง “Imagining Community / Nation Without (Cultural) Borders” และการประชุมในปีมา คือในปี พ. ศ. 2550 ที่ซิตี้ยูนิเวอร์ซิตี้อ็อฟฮ่องกงในหัวเรื่องที่ชื่อว่า“Desire, Dialogue, Democracy” งานประชุมทางวิชาการที่มีชื่อเรียกว่า SPICES” ก็ถือกำเนิดขึ้นมาหลังจากการจัดงานในปีที่ 2 ด้วยความเห็นพ้องของคณะทำงานที่ประกอบไปด้วย รศ. ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ซาฮารอม เนียนและ เลย์ คิม จากมหาวิทยาลัย เซนส์ มาเลเซีย ดร. ชิน ฮุน จุน จากมหาวิทยาลัยซังกังโฮ และ ดร. แองเจิล ลิน จากซิตี้ยูนิเวอร์ซิตี้อ็อฟฮ่องกง ดังนั้น ในงานสัมมนาครั้งล่าสุดที่จัดเมื่อวันที่ 7-9 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัย ซายส์ มาเลเซีย รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย จึงได้ใช้ชื่อว่า " SPICES 2008: Commercialization, Contestation and Creative Culture”

ด้วยความมุ่งหวังเบื้องต้นที่จะให้การประชุม SPICES นี้เป็นการประชุมทางวิชาการที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการ นักพัฒนา นักกิจกรรมจากประเทศต่างๆในเอเชียได้นำเสนอผลงานทางวิชาการ ร่วมทั้งแลกเปลี่ยนประเด็นการเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง สังคม วัฒนธรรม การสื่อสาร ฯลฯ ที่เกิดขึ้นในเอเชีย ใน 3 ปีที่ผ่านมานี้ เวทีของ SPICES ได้กลายเป็นเวทีที่เหล่านักวิชาการไม่ว่าจากญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน จีน ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย บังคลาเทศและภูฏาน ได้ร่วมประชุมด้วยความมีมิตรภาพยิ่ง สำหรับการประชุม SPICES 2009 ในครั้งต่อไป คือปี พ.ศ. 2552 จะจัดขึ้นที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี โดยมีหัวเรื่องการประชุมว่า “ Agency, Activism and Alternative” และมีสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยซังกังโฮ เป็นผู้ประสานงานการจัดประชุม